ตอบกลับ #11 26 มิถุนายน 2015, 22:41:22น.
สมุนไพร
สมุนไพรเพื่อวัยสูงอายุ
เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ
ภัทราพร ตั้งสุขฤทัย
ความสูงอายุเป็นผลรวมของพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชีวิตมนุษย์นับตั้งแต่เกิดจนสิ้นอายุขัย คำว่า ผู้สูงอายุมักใช้เรียกบุคคลที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ที่ใกล้เข้าสู่วัยนี้มักจะพบกับความเปลี่ยนแปลง ความเสื่อมถอยทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม แต่ในทฤษฎีการแพทย์แผนไทย ได้แบ่งอายุคนเป็น 3 วัย คือ
ปฐมวัย อายุ 0 – 16 ปี
มัชฉิมวัย อายุ 16 – 32 ปี
ปัจฉิมวัย คืออายุตั้งแต่ 32 ปี จนสิ้นอายุขัย
จากการแบ่งดังกล่าวจะเห็นว่าผู้ที่มีอายุ 32 ปีขึ้นไปอยู่ในวัยสูงอายุ ซึ่งต้องเตรียมร่างกาย จิตใจ ให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น แม้ว่าจะดูว่าอายุเพียงแค่นี้ยังแข็งแรงอยู่ แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่งการดำรงชีวิตด้วยความไม่ประมาท ตั้งแต่อายุน้อย ๆ จะทำให้ชีวิตปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติที่ควร จะเป็นไปได้ดีกว่า การดำรงชีวิตที่ขาดเป้าหมายที่ดี พอเข้าสู่วัยสูงอายุแล้วมาแก้ไขปัญหาก็พบว่า สายเสียแล้ว
การแพทย์แผนไทย แม่ว่าจะดูไม่ทันสมัยนัก แต่ถ้ามองกันลึก ๆ แล้วมีความละเอียดอ่อนลึกซึ้ง ที่น่าสนใจ และไม่ได้แตกต่างจากกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มากนัก ถ้าเราผสมผสานกันระหว่างการใช้ชีวิตและแบบใหม่และแบบดั้งเดิมให้เหมาะสม เราจะมีสุขภาพทางจิตที่ดี
อย่างไรก็ตามเราก็คงจะหลีกเลี่ยงวัยสูงอายุไม่ได้แม้ว่าจะแบ่งแบบเก่าหรือใหม่ เราจะต้อง พบกับความเปลี่ยนแปลงของร่างกายแน่นอน สถาบันการแพทย์แผนไทยจึงได้ตระหนักถึงการดูแล สุขภาพของผู้สูงอายุ ในฉบับนี้จึงขอนำเสนอสมุนไพรเพื่อวัยสูงอายุ และผู้ที่ใกล้เข้าสู่วัยสูงอายุ โดย แบ่งเป็นกลุ่มอาการดังนี้
สมุนไพรบำรุงกระดูก
เนื่องจากผู้สูงอายุมักพบปัญหาเกี่ยวกับการสูญเสียแคลเซี่ยมที่กระดูก ทำให้ความแข็งแรงของกระดูกลดลง กระดูกเปราะและหักง่าย ดังนั้นหลักในการดูแลทั่วไปคือให้ร่างกายได้รับแคลเซียมอย่างเพียงพอ โดยเฉลี่ยประมาณวันละ 800 มิลลิกรัม
อาหารที่ควรรับประทาน ได้แก่ นม ปลาป่น หรือปลาเล็กปลาน้อย กุ้งแห้ง นอกจากนี้ยังมีผักใบเขียวหลายชนิดที่มีปริมาณแคลเซียมสูง และหาง่าย ราคาถูก ได้แก่
ใบยอ มีแคลเซียม 469-841 มิลลิกรัม/100 กรัม ในใบยอมีสรรพคุณทางยาไทย รสขม แก้ไข้ บำรุงธาตุ แก้ท้องร่วง แก้ปวดข้อ ใบยอนำมาประกอบอาหารได้หลายชนิด เช่น ห่อหมก แกงอ่อมแกงป่า เป็นต้น
ช้าพลู มีแคลเซียม 601 มิลลิกรัม/100 กรัม นอกจากนี้ในใบช้าพลูยังมีฟอสฟอรัส เหล็ก และวิตามินต่าง ๆ
ข้อควรระวัง ไม่ควรรับประทานใบช้าพลูทุกวัน เพราะในใบช้าพลูมีสารออกซาเลท สูงถึง 691 มิลลิกรัม/100 กรัม ถ้ารับประทานปริมาณมากจะทำให้เกิดโรคนิ่วได้
มะขาม ฝักมะขามอ่อน มีแคลเซียม 429 มิลลิกรัม/100 กรัม ใช้ปรุงอาหารได้ หลายชนิด เช่น น้ำพริก ใส่ต้มยำ ยอดอ่อนใช้ปรุงแกง
สรรพคุณตามตำรายาไทย ช่วยระบาย ขับเสมหะ แก้ไอ บำรุงกระดูก ป้องกัน โรคเลือดออกตามไรฟัน
แค ในยอดแคมีแคลเซียม 395 มิลลิกรัม/100 กรัม ยอดแคนำมาเป็นผักจิ้มกับน้ำพริกได้ทั้งกินสดหรือลวก ดอกแคใช้แกงส้ม
สรรพคุณตามตำรายาไทย ยอดและดอกใช้แก้ไข้หัว เปลือกต้นใช้แก้ท้องเสีย น้ำต้มจากเปลือกใช้ล้างบาดแผล
ผักกะเฉด ใบและลำต้นมีแคลเซียม 387 มิลลิกรัม/100 กรัม ใช้รับประทานเป็นผัก ใช้ปรุงแกงส้ม และยำ นอกจากนี้ในลำต้นสด ซึ่งมีโปรตีนสูง 6.4 มิลลิกรัม/100 กรัม
สรรพคุณตามตำรายาไทย ผักกะเฉดมีรสเย็น ช่วยบรรเทาความร้อน ใช้ดับพิษร้อนถอนพิษไข้ ถอนพิษยาเบื่อเมา บำรุงกระดูก
สมุนไพรบำรุงสายตา
จากความเสื่อมถอยของร่างกาย ผู้สูงอายุมักจะพบปัญหาโรค ทางสายตามาก เช่น ตาฝ้าฟาง ตาเป็นต้อกระจก ต้อเนื้อ และขาดวิตามินหลายชนิด เนื่องจาก รับประทานอาหารได้น้อยลง หลักการดูแลทั่วไป คือ การรักษาตามอาการ การป้องกันที่ดีที่สุด คือ หลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่น ควัน แสงแดดจัดโดยตรง การรับประทานอาหารที่มีวิตามินเอสูง จะช่วยบำรุงสายตาและป้องกันการเสื่อมของสายตาก่อนวันอันควร สมุนไพรที่บำรุงสายตา ได้แก่
กะเพรา ใบกะเพราประกอบสารอาหารที่สำคัญหลายชนิด เช่น เบต้าแคโรทีน วิตามินซี ไนอาซิน ฟอสฟอรัส เหล็ก และแคลเซียม ใบกะเพรามีเบต้าแคโรทีนสูง 7,857 ไมโครกรัม/100 กรัม ซึ่งเบต้าแคโรทีนนี้จะเปลี่ยนเป็นวิตามินเอในร่างกายของคนเรา กะเพรานำมาปรุงอาหารช่วย ดับกลิ่นคาว ช่วยชูรสให้ดีขึ้น เช่น ผัดกะเพรา ต้มยำ ผัดขี้เมา เป็นต้น
สรรพคุณตามตำรายาไทย กะเพราที่นิยมใช้คือกะเพราแดง รสเผ็ดร้อน ช่วยขับลม แก้ท้องอืดเฟ้อ ช่วยย่อย แก้อาการแน่นจุกเสียด แก้ปวดท้องทั้งเด็กและผู้ใหญ่
ขี้เหล็ก ใบขี้เหล็กมีเบต้าแคโรทีน 7,181 ไมโครกรัม/100 กรัม คนไทยนำใบและดอกขี้เหล็กมาต้มเพื่อให้หายรสขม นำมาแกงใส่ปลา หมู หรือหอยขม เป็นต้น
สรรพคุณตามตำรายาไทย ช่วยบำรุงสายตา ช่วยระบาย แก้ท้องผูก ช่วยให้นอนหลับดี
แครอท หัวแครอทมีสารเบต้าแคโรทีนสูง 6,994 ไมโครกรัม/100 กรัม ใช้ปรุงอาหารได้หลายชนิด เช่น แกงจืด ต้มน้ำซุป ผัดพริก หรือรับประทานเป็นสลัดผัก ช่วยแต่งสีสรรอาหารให้ น่ารับประทานยิ่งขึ้น
สรรพคุณตามตำรายาไทย ช่วยบำรุงสายตา ขับปัสสาวะเนื่องจากมีปริมาณเกลือ โปแตสเซียมสูง
ฟักข้าว ในยอดอ่อนของฟักข้าวมีเบต้าแคโรทีนสูง 4,782 ไมโครกรัม/100 กรัม นำยอดอ่อน ใบอ่อน และผลอ่อนมารับประทานเป็นผักจิ้ม แกงแค
สรรพคุณตามตำรายาไทย ใบใช้เป็นยาถอนพิษ ใช้ถอนพิษไข้ทั้งปวงได้
สมุนไพรช่วยเจริญอาหาร
ตามตำรายาไทยสมุนไพรช่วยเจริญอาหารมักจะมีรสขม ซึ่งเรียกว่า bitter tonic และสมุนไพรที่มีรสเผ็ดร้อน จะช่วยกระตุ้นให้น้ำลายและน้ำย่อยอาหารออกมามาก สมุนไพรช่วยเจริญอาหารได้แก่
สะเดา ช่อดอกและใบอ่อนมีรสขม ใช้รับประทานเป็นผักจิ้ม สะเดาน้ำปลาหวาน
สรรพคุณตามตำรายาไทย ช่วยแก้ไข้ บำรุงธาตุ รสขมของสะเดา ช่วยเจริญอาหาร นอกจากนี้ปัจจุบันใช้เป็นยาฆ่าแมลงในทางเกษตรกรรม
กระชาย ในรากและเหง้ากระชายมีน้ำมันหอมระเหย ช่วยแต่งกลิ่น
สรรพคุณตามตำรายาไทย ช่วยขับลม แก้ท้องอืด ช่วยเจริญอาหาร
พริกขี้หนู พริกส่วนใหญ่แล้วมีรสเผ็ดซึ่งมากน้อยแตกต่างกัน สารสำคัญในพริกขี้หนู คือ สารแคปไซซิน (capsaicin) ซึ่งทำให้พริกมีรสเผ็ด ในพริกมีวิตามินซี
สรรพคุณตามตำรายาไทย ช่วยเจริญอาหาร ขับลม ขับเสมหะ ช่วยขับเหงื่อ แก้ ปวดท้อง แก้อาเจียน และช่วยย่อย แต่สำหรับผู้ที่เป็นแผลในกระเพาะอาหาร ไม่ควรรับประทานพริก เพราะจะทำให้เกิดการระคายเคือง ทำให้กระเพาะอาหารอักเสบมากยิ่งขึ้น
สมุนไพรช่วยให้นอนหลับ
สมุนไพรที่ออกฤทธิ์ช่วยระงับประสาท และช่วยให้นอนหลับ มีหลายชนิด เช่น ขี้เหล็ก ระย่อม ชุมเห็ดไทย
ขี้เหล็ก เป็นพืชที่คนไทยนำมาปรุงเป็นอาหารตั้งแต่โบราณ โดยนำใบอ่อน ดอก มาต้มรินน้ำออกเพื่อให้หายขม นำมาแกงขี้เหล็กใส่หมู เนื้อและหอยขมเป็นต้น ปัจจุบันมีรายงานการวิจัยว่าขี้เหล็กมีสารสำคัญให้มีผลต่อระบบประสาทช่วนให้นอนหลับ โดยใช้ใบแห้งประมาณ 30 กรัม หรือใบสด 50 กรัม ต้มเอาน้ำดื่มก่อนนอน นอกจากนี้ใบขี้เหล็กยังมีวิตามินเอ และซีสูง ช่วยบำรุงกระดูก และสายตา
สรรพคุณตามตำรายาไทย ดอกตูมและใบอ่อน รสขม ช่วยระบาย เจริญอาหาร
ระย่อม เป็นพืชที่คนไทยและชาวอินเดียใช้เป็นยาลดความดันโลหิต ตามตำรายาไทยใช้รากระย่อมเป็นยาแก้ไข้ เจริญอาหาร แก้คลุ้มคลั่ง ลดความดันโลหิต และช่วยให้นอนหลับ
จากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ พบว่าในรากระย่อมมีสารแอลคาลอยด์หลายชนิด ส่วนฤทธิ์ที่ช่วยลดระดับความดันโลหิต ได้แก่ เรเซอปีน (seserpine) วิธีใช้ ใช้ผงรากแห้งบดละเอียด รับประทานวันละ 100 มิลลิกรัม ก่อนนอน
สมุนไพรเสริมสรรถภาพทางเพศ
บำรุงกำลัง ในผู้สูงอายุด้วยสมรรถภาพทางกาย เสื่อมถอยการเสริมสมรรถภาพทางเพศนั้นเป็นเพียงการดูแลด้านจิตใจ ส่วนทางร่างกายนั้น ยังไม่มีงานวิจัยระบุชัดเจนว่ามีสมุนไพรชนิดใดกระตุ้นและเสริมสมรรถภาพทางเพศ การดูแลร่างกายให้แข็งแรง จิตใจเข้มแข็ง โดยการออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ทำใจให้สงบ ใช้ชีวิตชอบตามแนวพุทธศาสนา ปัญหาสมรรถภาพทางเพศเกิดได้ในวัยสูงอายุ ดังนั้น คนเราเมื่อเข้าใจธรรมชาติของร่างกายมนุษย์แล้ว การนำสมุนไพรมาใช้เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น สมุนไพรที่มีบันทึกตามตำรายาไทย มีหลายชนิด เช่น กวาวเครือ กระเทียม ดีปลี กระชาย มะเขือแจ้เครือ กำลังช้างสาร โด่ไม่รู้ล้ม ตะโกนา ม้ากระทืบโรง สะค้านแดง โสมไทย สันพร้าหอม เห็ดโคน เห็ดฟาง กำลังเสือโคร่ง ว่านนกคุ่ม สังกรณี หนาดคำ เป็นต้น
การออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การทำจิตใจให้แจ่มใส เป็นการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องที่สุด สมุนไพรที่กล่าวถึงข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการบำรุงธาตุ บำรุงกำลัง ตามตำราการแพทย์แผนไทยที่มีบันทึกไว้ ถึงอย่างไรสภาพร่างกายที่เสื่อมถอย ร่วงโรยตามวัย ยาใด จักช่วยท่านได้ถ้าจิตใจของท่านไม่สงบ ดังนั้นตามแนวพุทธศาสนา การทำสมาธิ ภาวนา จะช่วยให้จิตใจเป็นสุข ร่างกายก็จะสุขตามไปด้วยเช่นกัน

บันทึกการเข้า